วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ให้ทานไฟ

เนื่องด้วยฤดูหนาวพระไม่สามารถจุดไฟผิ่งเองได้ ญาติโยมมาจุดให้และไม่ให้ไฟนั้นหมดไปเปล่าๆ 
เลยอาหัวมันมาเผา หรือมาทำขนมตามที่ตนจะทำได้ถวายพระสงฆ์กันในเวลาใกล้รุ่ง 

ประเพณีการให้ทานไฟ เป็นประเพณีที่แสดงออกถึงความเชื่อ  ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่มีความปรารถนาให้พระภิกษุสามเณรคลาย หนาวโดยการถวายอาหารร้อน ๆ ซึ่งคล้ายกับพระราชพิธีเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ด้วยขนมเบื้อง 

การให้ทานไฟ เป็นพิธีของชาวบ้าน และทำกันเฉพาะถิ่นของชาวนครศรีธรรมราช ปัจจุบัน มีจำนวนน้อยวัดที่ยังอนุรักษ์และ สืบสานประเพณีนี้อยู่ และมีวัดในละแวกใกล้เคียง ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งอำเภอท่าศาลา และอำเภออื่นๆ ก็มีการจัดประเพณีการให้ทานไฟ 

เพื่ออนุรักษ์และสืบสานประเพณีที่มี
คุณค่านี้ไว้แก่ อนุชนรุ่นหลังต่อไป และเป็นความสามัคคีของชุมชนด้วย ที่จะมาช่วยกันคนละไม้ละมือ
มาทำขนมกันที่วัด และถวายพระ รับบุญกันถ่วนหน้า 

ขนมที่จะทำกันได้แก่ ขนมจาก ขนมรังต้อ ขนมโค ขนมจู้จุน ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวหลาม และอื่นๆ อีกมาก ตามศัทธา เพราะต้องมาตั้งแต่ ตี 3-4

ตอนหัวรุ่ง และถวายพระตอนเช้าตรู่ รับพร แล้วแยกย้ายกันกลับบ้าน ขนมที่เหลือก็แจกๆ คนที่มาวัดและ
ช่วยงาน ให้กลับไปกินที่บ้านต่อไป


แถวๆบ้านมี วัดคลองดิน วัดสโมสร วัดเสนาราม วันโคกเหล็ก วัดท่าสูง ผู้เขียนจะไปช่วยด้วย

 


ประเพณีการให้ทานไฟของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช มีสาระประโยชน์ที่มี คุณค่าแก่สังคม
โดยส่วนรวม ดังนี้

1. ได้เปิดโอกาสให้ชาวบ้านมาพบกัน พูดคุยกันและร่วมมือกันประกอบพิธีกรรมภาย ในวัด พร้อมกันนี้ชาวบ้านกับพระสงฆ์ได้วิสาสะสร้างความคุ้นเคยตามหลักสาราณียธรรม โดยอาศัยประเพณีการให้ทานไฟนี้

2. ทำให้ชาวบ้านมีความเพียร  มีความขยัน  โดยการตื่นนอนแต่เช้าตรู่เพื่อ
เตรียมอุปกรณ์ปรุงอาหารขนมถวายพระ ทำให้มีความสดชื่นเบิกบาน แจ่มใส


3. เป็นโอกาสดีที่ได้นัดหมายพร้อมกันในตอนเช้ามืดมาที่วัด  เพื่อร่วมทำบุญเลี้ยงพระ
รับประทานอาหารพร้อมกัน เป็นการสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนหมู่บ้าน และสร้างความเป็น
ปึกแผ่นให้เกิดขึ้นในสังคม

4.ได้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยการถวายความอุปถัมภ์ให้กำลังแก่พระภิกษุสามเณร
ซึ่งเป็นผู้รักษาสืบอายุพระพุทธศาสนา ให้เจริญรุ่งเรืองวัฒนาสืบไป

5. ได้บำเพ็ญบุญบารมีด้วยการถวายทานเป็นการสั่งสมความสุขและความดีไว้กับตน
อันเป็นที่พึ่งในปรโลกเบื้องหน้า ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

6. ได้อนุรักษ์และสืบสานประเพณีการให้ทานไฟ เป็นการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราชให้เป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง ต่อไป

7.  ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดย
อาศัยประเพณีนี้ย่อมทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าทางสังคมมากมาย

ขนมที่ทำกัน ก็ทำแบบง่ายๆ ช่วยกันทำ ไม่นานก็ได้กิน

 
    



ประวัติ ความเป็นมาของประเพณีให้ทานไฟ  
กล่าวถึงในขุนทกนิกายชาดก เรื่อง ความตระหนี่ถี่เหนียวของโกลิยะเศรษฐี ที่อยากกินขนมเบื้อง แต่เสียดายเงินไม่ยอมซื้อและไม่อยากให้ลูกเมียได้กินด้วย ภรรยาจึงทำขนมเบื้องที่บ้านชั้นเจ็ดให้เศรษฐีได้รับประทานโดยไม่ให้ผู้ใดเห็น ขณะที่สองสามีภรรยากำลังปรุงขนมเบื้อง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบด้วยญาณ จึงโปรดให้พระโมคคัลลานะไปแก้นิสัยของโกลิยะเศรษฐี 

พระโมคคัคลานะตรงไปบนตึกชั้นเจ็ดของคฤหาสน์เศรษฐี เศรษฐีเข้าใจว่าจะมาขอขนม จึงแสดงอาการรังเกียจและออกวาจาขับไล่ แต่พระโมคคัคลานะพยายามทรมานเศรษฐีอยู่นานจนยอมละนิสัยตระหนี่ พระโมคคัลลานะได้แสดงธรรมเรื่องประโยชน์ของการให้ จนโกลิยะเศรษฐีและภรรยาเกิดความเลื่อมใส ได้นิมนต์มารับถวายอาหารที่บ้านตน 

พระโมคคัลลานะแจ้งให้นำไปถวายพระพุทธเจ้าและพระสาวก ๕๐๐ รูป ณ เชตวันมหาวิหาร โกลิยะเศรษฐีและภรรยาได้นำเข้าของเครื่องปรุงไปทำขนมเบื้องถวายพระพุทธเจ้า และพระสาวก แต่ปรุงเท่าไหร่แป้งที่เตรียมมาเพียงเล็กน้อยก็ไม่หมด 

พระพุทธเจ้าจึงโปรดเทศนาสั่งสอน ทั้งสองคนเกิดความปีติอิ่มเอิบในการบริจาคทาน เห็นแจ้งบรรลุธรรมชั้นโสดาบัน 

จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบร้อนชื้น ในหน้าหนาวก็ไม่หนาวมาก เพียงแต่คนรู้สึกว่าอากาศเย็นลงกว่าปกติ เนื่องจากไม่เคยชินกับอากาศที่หนาวเย็นลง 
ตอนย่ำรุ่งเช้ามืดจึงลุกขึ้นมาก่อไฟผิงเพื่อสร้างความอบอุ่น ประกอบกับชาวนครศรีธรรมราชยึดมั่นใน
พระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนจึงพากันก่อกองไฟในวัดใกล้บ้าน แล้วนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาผิงไฟ
รับความอบอุ่นด้วย 




0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น