วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559

สะตอดอง
 

สะตอดอง เมนูภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ ใครไม่เคยกินสะตอดอง เป็นไม่มี สำหรับคนภาคใต้ เหม็นๆ แต่อร่อย ใช้เป็นเมนูประจำภาค ประจำฤดูการกับเลยทีเดียว กรรมวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากนัก แค่มีสะตอแก่ๆ ลวกน้ำร้อน แล้วแกะเอาแต่เมล็ด นำไปคลุกเคล้ากับเกลือ ดองไว้สัก 1 อาทิตย์ ก็ได้รับประทานแบบอร่อยๆแล้วละค่ะ


องค์ประกอบ
1. สะตอ แก่ๆ
2. เกลือ
3. เตาไฟ
4. น้ำ
5. กระปุก



วิธีการทำ
1. สะตอสด ยิ่งแก่ยิ่งดี ถ้าอ่อนไปจะทำให้เปลื่อยยุ่ย สุกไปก็ทำให้เมล็ดนิ่ม

2. ตั้งกระทะเติมน้ำตั้งให้ร้อนจัดๆ นำสะตอลงไปลวก เอาพอสุก ยกขึ้น


3. นำถังใส่น้ำธรรมดาไว้ เมื่อลวกสะตอแล้วก็นำไปใส่ถังน้ำให้เย็น


4. แกะเอาแต่เมล็ด นำไปคลุกเคล้ากับเกลือ เก็บใส่กระปุก หรือขวด ตามสะดวก ประมาณ 1 อาทิตย์ (หรือบางคนก็เติมน้ำไปเลยในกระปุก เรียกว่าดองเปียก)



การดองเปียก ถ้าเกินกำหนด จะทำให้ด้านบนเป็นฝ้าขาวๆ เทน้ำทิ้ง เติมน้ำใหม่ก็กินได้
 
5. เมื่อครบกำหนด ก็นำมาล้างน้ำ 1 ครั้ง แล้วเติมน้ำใหม่นำมารับประทานได้เลย

  
ข้อสังเกตุ  
1. ถ้าสะตอสุกไปก่อนจะลวก จะทำให้เมล็ดดำ
2. ถ้าอ่อนไป จะให้เมล็ดขาว
3. ถ้าแก่ขนาดพอดี๊ พอดี ก็จะได้เมล็ดเขียวๆ พอประมาณ 


ได้อีก 1 เมนูในการรับประทานอาหาร ครั้งต่อไป

  

วันอังคารที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เขื่อนเชี่ยวหลาน สุราษฎธานี 

เขื่อนรัชชประภา มีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า เขื่อนเชี่ยวหลาน เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของภาคใต้ อยู่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วยยอดเขาหินปูนที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมามากมาย
จนได้รับฉายาว่า กุ้ยหลินเมืองไทย ซึ่งพื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด
สามารถเดินทางโดยผ่านอำเภอบ้านตาขุน 

 
ก่อสร้างเมื่อ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 เสร็จสิ้นใน เดือนกันยายน 2530
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดเขื่อนรัชชประภา และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เมื่อวันพุธที่ 30 กันยายน 2530

เมื่อก่อนสร้างแล้วเสร็จได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ หัว พระราชทานนามให้ใหม่ว่า เขื่อนรัชชประภา มีความหมายว่า แสงสว่างแห่งราชอาณาจักร

 
เขื่อนรัชชประภา เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคใต้ ที่สร้างความมั่นคง
ให้แก่ระบบไฟฟ้า และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศชาติ
ยังเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในปี
พ.ศ. 2530 และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ในปี พ.ศ. 2531
 
เขื่อนรัชชประภา สร้างปิดกั้นลำน้ำคลองแสง ที่บ้านเชี่ยวหลาน ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

พื้นที่ส่วนใหญ่ติดอุทยานแห่งชาติเขาสกเกือบทั้งหมด เป็น เขื่อนหินถมแกนดินเหนียว สูง 94 เมตร ความยาวสันเขื่อน 761 เมตร และมีเขื่อนปิดกั้นช่องเขาขาดอีก 5 แห่ง
มีความจุ 5,638.8 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 185 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยปีละ 3,057 ล้านลูกบาศก์เมตร 
ติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องละ 80,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลัง การผลิต 240,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละประมาณ 554 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
ทัศนียภาพโดยรอบบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ สวยสดงดงาม และสงบร่มรื่น เหมาะแก่การไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละหลายหมื่นคน ให้เดินทางมาเยี่ยมชม
 
พื้นที่น้ำเกือบทั้งหมด อยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติเขาสก (เว้นเพียงพื้นที่น้ำในเขตทุ่นลอย
อันได้แก่ รอบพระตำหนักเรือนรับรองที่ประทับ หน้าช่องระบายน้ำ และตลอดแนวสันเขื่อน
อยู่ในความรับผิดชอบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)
 
 


 
 
ข้อมูลจากวิกิพีเดีย เรียบเรียงโดยบ้านบิวเบสท์

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ยำชะคราม
 

ใครชอบอาหารจานยำ หากมีโอกาสได้ใบชะครามมา แนะนำให้ลองทำยำใบชะครามทำกินดู
ชะครามเป็น พืชเฉพาะถิ่น ขึ้นบริเวณที่มีดินเค็ม แถวบริเวณที่เขาทำนาเกลือหรือว่าบริเวณพื้นดินที่มีน้ำทะเลหนุน ที่บ้านฉันมีขายที่ตลาดนัดวันเสาร์ สี่แยกวัดโหนด เพราะแถวๆนั้นเขาทำนากุ้งกัน ช่วงนี้ก็เลยมีใบชะคราม หรือ ใบชีคราม ตามแต่จะเรียกกัน มาขาย มัดละ  5 บาท 10 บาท ก็แล้วแต่จะทำกัน


ใบชะครามสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอดกับไข่ หรือแกงส้ม แกงกะทิ ยำ หรือยำแบบโบราณใส่มะพร้าวคั่ว มะปริงสด จะมีช่วงที่เป็นมากก็ตอนที่จะมีการบวชนาค 

เมื่อก่อนจะทำเป็นเมนูอาหารในการเลี้ยงแขกที่มางานกัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยนิยมทำกันมากนัก เพราะต้องมีอุปกรณ์ในการทำมาก และขั้นตอนก็เยอะ เลยทำกินกันแต่ในครอบครัว เคยสงสัยว่าทำไม ชะครามหรือชีคราม มันมีรสเค็มก็เพราะว่า ขึ้นในนากุ้งหรือในน้ำเค็ม 

วิธีการและขั้นตอนการทำยำใบชะคราม แบบไม่ใส่กะทิ แต่ให้เด็กๆกินได้

เครื่องปรุง
ใบชะคราม     1 ถ้วย
หมูสับรวน     100 กรัม
หอมแดงเจียว 2 หัว 
พริกขี้หนูหั่น  10 เม็ด
ไส้กรอก      2 แท่ง

น้ำยำ
น้ำมะนาว 4 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลทราย 3 ช้อนโต๊ะ
เกลือป่น 1 /2 ช้อนชา

วิธีทำ
1. ล้างใบชะคราม รูดเอาแต่ใบต้มกับน้ำด้วยไฟกลางให้สุกนุ่มนานประมาณ 10-15 นาที

2. เทใส่อ่างผสม ขยำกับน้ำ 3-4 ครั้ง บีบน้ำให้แห้ง ใส่จาน พักไว้

3. ทำน้ำยำโดยผสมน้ำมะนาว น้ำตาล และเกลือ คนให้ น้ำตาลละลายในถ้วย พักไว้

4. นำทุกอย่างที่เตรียมไว้ใส่ใน หม้อผสม ใส่ใบชะครามต้มลงในจาน ตักหมูรวนใส่ ราดด้วย น้ำยำ
ไส้กรอหั่นชิ้น  หอมแดงเจียว และพริกขี้หนูสดหั่นหยาบ คลุกเคล้าให้ เข้ากันก่อนรับประทาน

 
เคล็ดลับบางคน
บางคนใช้วิธีต้มไปทั้งก้านแล้วค่อยเอามารูดออกจากก้าน เสร็จแล้วขยำกับน้ำเกลือจนหมดรสเค็ม 
บีบเอาน้ำออกให้แห้ง 

การนำไปต้มแล้วค่อยรูดใบออก ทำให้ใบชะครามนิ่ม รูดออกได้ง่ายขึ้น ส่วนการขยำกับน้ำเกลือเพื่อใช้ความเค็มของเกลือดึงความเค็มที่มีอยู่ภายใน ตัวใบออก 

เคล็ดลับและวิธีการเหล่านี้ทำเพื่อลดความเค็มในใบชะคราม ใครอยากลดมากหรือน้อยก็ปรับใช้ได้ตามวิธีการ แต่สำคัญเมื่อนำใบชะครามไปลวกแล้วเนื้อจะนุ่มขึ้น เหมาะนำไปปรุงอาหารได้หลายอย่าง
ถ้าจะทอดไข่ก็ไม่ต้องใส่น้ำปลาเยอะ สามารถ ล้างแล้วเด็ดใส่สดๆได้เลย จะสุกพร้อมไข่


 สาระความรู้เกี่ยวกับชะครามหรือชีคราม


ใบชะครามแต่ละฤดูจึงมีรูปร่างและรสชาติต่างกัน จริงๆ แล้วใบชะครามสดไม่นิยมนำมากิน 
ต้องทำให้สุกก่อน เหตุใดต้องทำให้สุกก่อน เป็นภูมิปัญญาสืบทอดกันมาโดยมีการทำเฉพาะ 
ไม่ใช่เด็ดมาแล้วเอาใส่กระทะหรือใส่หม้อแกงได้เลย 

ต้องเลือกใบชะครามอ่อน สีเขียว รูดเอาเฉพาะใบ เด็ดยอดไว้ ล้างให้สะอาด แล้วนำไปต้มในน้ำเดือด จึงค่อยๆ บีบเอารสเค็มที่อยู่ในใบออก การทำโดยคร่าวๆ มีประมาณนี้ แต่ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยอันเป็นเทคนิควิธีการของแต่ละคน 
  
ต้นชะครามนั้นขึ้นง่าย เป็นพืชขึ้นในดินเค็ม รูปทรงพุ่ม บางถิ่นเรียก ชักคราม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sueda maritime dumort อยู่ในวงศ์ Chenopodiaceae กิ่งและก้านใบอวบน้ำ พองกลม 
ปลายใบแหลม มีนวลจับขาว เมื่ออ่อนหรือหนุ่มสีเขียว แต่พอแก่แล้วจะเป็นสีม่วงหรือชมพู ใบชะครามแก่แล้วไม่อร่อย พอมีดอกก็ใช้ไม่ได้แล้ว แต่ถ้าฝนตกจะเค็มน้อยหน่อย เพราะโดนน้ำฝน ถ้าหน้าแล้งจะเค็มมากกว่า เพราะโดนน้ำน้อย แต่หน้าฝนนี่ใบจะงามอวบกว่า
 
ชะครามเป็นพืชสมุนไพร ที่สามารถนำมาสกัดสารทดลองเพื่อยับยั้งหรือฆ่าเซลล์มะเร็งในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ ชะครามขยายพันธุ์ได้ง่ายและมีปริมาณมาก หาง่ายจากป่าชายเลน 
เป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็งอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยและยืดอายุต่อไปได้และ
เพื่อหาทางรักษาในราย ที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ 

ซึ่งงานวิจัยทางด้านนี้ยังมีการศึกษาน้อยมากในประเทศไทย นอกจากนี้ชะครามยังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารตามบ้านเรือน ด้วยความฉลาดของท้องถิ่นที่รู้ว่าอะไรสามารถทำเป็นอาหารได้ 

แม้แต่วัชพืชชนิดนี้มาทำการปรุงเป็น อาหารแบบดั้งเดิมจนเป็นการสืบทอดความรู้ของคนโบราณมาจวบจนปัจจุบันโดยรวบรวม ถ่ายทอด และนำมาสั่งสอนให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงวิธีการดัดแปลงการทำอาหารจากวัชพืช ที่ไร้ค่าแล้วสามารถเก็บมาใช้ประโยชน์ได้อีกเช่น ต้ม ยำ ทำแกง ทอดไข่

โดยเก็บใบมาทำแกงส้ม หรือนำใบมารับประทานกับจิ้มน้ำพริกกะปิ หรือเป็นเครื่องเคียง ในอนาคตคาดว่าชะครามอาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปเป็นอาหารที่มนุษย์ นิยมรับประทานเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เนื่องจากชะครามเป็นพืชที่หาง่ายพบขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลน และที่สำคัญที่สุดคือ สารสกัดจากต้นชะครามยังมีประโยชน์ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคในทางการแพทย์ได้ ดีอีกด้วย

วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559


แกงบวดฟักทอง

 
เมนูแกงบวดฟักทอง เป็นขนมหวานค่ะ สามีชอบกิน และชอบทำด้วย เด็กๆก็ชอบ งั้นก็มาทำกันเลยคะ เมนูขนมหวานสีเหลืองแสนอร่อย ที่หลายๆคนชอบกิน แต่ขั้นตอนการทำต้องละเอียดกันนิดนะคะ เพราะถ้าตั้งไฟนานเกินจะทำให้ฟักทองเละ ไม่น่ากิน และอีกอย่างอยู่ที่เนื้อฟักทองด้วยคะ ต้องเลือกที่เนื้อแน่นๆ แก่จัดๆ จะได้กินแบบอร่อย

 


เตรียมทำเมนูแกงบวดฟักทอง
1. ฟักทองแก่จัด 1 ซีก ประมาณ 1/2 กิโลกรัม หรือมากกว่า
2. น้ำกะทิ                             1/2  กิโลกรัม
3. น้ำตาลทรายแดง                 1/2 กิโลกรัม
4. เกลือ                                1   ช้อนชา
4. น้ำปูนใส                            2   ถ้วย
5. น้ำเปล่า                             5    ถ้วย โดยประมาณ

ส่วนผสมนี้สามารถปรับเพิ่ม ลดได้ตามความชอบ

วิธีการทำ

1. ล้างทำความสะอาดฟักทองที่เปลือกด้านนอก ผ่าครึ่งหรือเป็นเสี้ยวๆก็ตามใจชอบ 
(ถ้าไม่ชอบแบบเปลือกแข็งๆ ก็ใช้มีดเกลาเปลือกออกได้นิดหน่อย) แล้วแต่พันธุ์ฟักทองด้วย

 ควักไส้ในออกแล้วหั่นเป็นชิ้น ขนาดพอคำ (รูปหายไปไหน) คิดตามละกันค่า มีผู้ช่วยทำ

2. นำฟักทองที่หั่นชิ้นเรียบร้อยแล้ว นำไปแช่น้ำปูนใส ประมาณ 15-20 นาที นำขึ้นแล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง

3. นำกะทิใส่หม้อ ตั้งไฟให้เดือด ปรุงรสด้วย น้ำตาลทราย และเกลือ ชิมรสดูให้หวานกลมกล่อม 
แล้วใส่ฟักทองลงไป ต้มต่อไปเรื่อยๆ จนฟักทองสุกนิ่มดี
(บางคนแยกหางกะทิใส่ก่อนแล้วใส่หัวกะทิตอนหลัง) ก็แล้วแต่ความชอบอีกแหละค่า

 
4. ต้มต่อไปเรื่อยๆ จนฟักทองสุกนิ่มดี จากนั้นใส้หัวกะทิตามลงไป รอให้เดือดอีกครั้งก็สามารถตักมาลองชิมความอร่อยได้แล้วละค่า หวานมัน อร่อย 

วันพุธที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2559

 ไข่เจียว ไข่มดแดง


เพราะไข่มดแดง สามารถทำเป็นเมนูอาหารได้หลายอย่าง วันนี้นำเสนอเมนูง่ายๆ ไข่ทอดไข่มดแดง
ลองทำดู จะหวาน มัน อร่อย ฟิน ขนาดไหน ฝีมือใคร ฝีมือมัน ไม่สงวนสิขสิทธิ เพราะฝีมือเราอร่อย

ส่วนผสม

ไข่ไก่        3 ฟอง
ไข่มดแดง  1 ถ้วย
น้ำปลา     1 ช้อนโต้ะ
มันหอย    1 ช้อนโต้ะ
นมประกอบอาหารคาเนชั่น (ไข่จะนิ่มฟู รสกลมกล่อม)
น้ำมันพืช 4 ช้อนชา
รสดีปลายช้อนชา


วิธีทำ
1. ตอกไข่ใส่ชาม ผสมกับ ไข่มดแดง น้ำปลา น้ำมันหอย ผสมให้เข้ากัน



2.ตั้งกระทะน้ำมันให้ร้อน ใช้ไฟอ่อน ใส่ไข่ลงไปทอด

 
 
3.ทอดให้เหลืองทั้งสองด้าน ยกลงจากเตา

 

มาพร้อมกับแกล้มหรือกับข้าวอย่างอื่น เช่นน้ำพริก ผักลวก ได้อีก 1 เมนูแสนอร่อย ในมื้ออาหาร
ใช้ น้ำมันปาล์มในการทอดจะทำให้กรอบกว่า น้ำมันชนิดอื่นๆ ไม่สวยมากแต่อร่อย ไข่มดกรึบๆในปาก