วันอาทิตย์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

เหนียวสองดัง


 

เหนียวสองดังนี้ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นอาหารพื้นบ้านโบราณเฉพาะถิ่นหรือเปล่า เพราะแม่ทำให้กินตั้งแต่เด็กๆ แค่มีข้าวเหนียว กับ มะพร้าวก็ทำได้แล้ว เพราะสมัยก่อนใช้เตาถ่านเป็นอาจิณ 
พอข้าวเหนียวสุกจะได้กลิ่นกะทิ กลิ่นใบตอง กลิ่นข้าวเหนียว หอมคละคลุ้งไปทั่ว เด็กๆตื่นเต้นกันใหญ่


เพื่อนที่จังหวัดพังงา เขาเรียกข้าวเหนียวนี้ว่า ข้าวเหนียวนั่งห้าง คือทำเป็นที่นั่งที่ต้นไม้สูงๆ 
สำหรับออกป่า ล่าสัตว์ ตามความเข้าใจของตัวเอง เพราะที่่บ้านเขาทำห้างไว้นั่งที่ต้นไม้สูงๆ เช่นกัน
ที่ว่าเรียก เหนียวสองดัง ก็เพราะว่า ข้าวเหนียวชนิดนี้ ใช้ใบตองรองไว้แล้วผิงไฟให้เหลืองทั้งสองด้าน 
เรียกว่า ดัง เหมือนกับ ดังข้าว (เป็นภาษาบ้านนอก เฉพาะถิ่น) คือหุงกับถ่านแล้วผิงให้สุก

   
อาทิตย์นี้ลูกๆ ว่าอยากกิน เหนียวสองดัง แม่ผัดผ่อนมา 1 อาทิตย์แล้วนะ 555 ลูกทวงซะแล้ว 
เลยจัดการไปบ้านแม่ ให้น้องสอยมะพร้าวให้ เพราะบ้านตัวเองยังไม่แก่ น้องว่าอยากกินอยุ่พอดี
ทำเผื่อด้วยนะ ตายละหว่า มีข้าวเหนียวอยุ่ประมาณ 1/2 กิโลกรัม จะพอหรือปล่าว 

ให้ลูกไปซื่้อมาอีก 1 กิโลกรัม เติมกับที่มีอยู่ ให้ได้พอกินกันทั่วหน้า ว่าแล้วก็จัดการปอกมะพร้าว 
ขูดกับกระต่าย ลูกๆช่วยกันขูด 2 ลูกใหญ่ๆ  แม่ก็ล้างข้าวเหนียวพักไว้ เมื่อลูกขูดเสร็จก็ทำการ 
คั่นกะทิ รอก่อไฟเตาถ่าน

ส่วนผสม
ข้าวเหนียวเขี้ยวงู    1.5  กิโลกรัม
น้ำตาล                150 กรัม
หัวกะทิ                1.5 กิโลกรัม
เกลือ                  2.5 -3 ช้อนชา
ใบตอง               1 - 2 ทาง

วิธีทำ

1.ล้างข้าวเหนียวให้สะอาด พักไว้




2. มะพร้าว ห้าวไปนิด ช่างมันเราทำได้

 3. กระต่าย หรือ เหล็กขูด อาวุธขูดมะพร้าว


มะพร้าวที่ขูดได้ คั้นเอาหัวกะทิ

 

4. นำกะทิไปตั้งไฟ ใส่น้ำตาล เกลือ คนให้ละลาย จนให้กะทิเดือด

 
          นำข้าวเหนียวลงไปผัดในกะทะให้เข้ากัน จนน้ำกะทิเริ่มแห้ง จนแห้งหมาดๆเริ่มได้ที่ ตักขึ้น 

5. ตั้งกะทะแล้วใช้ใบตองรองที่กะทะก่อน ใส่ข้าวเหนียวที่เราผัดลงไปเกลี่ยให้บางๆ หรือจะใช้ตะแกรงย่างไฟก็เหมือนกัน


 

6. ปิดด้วยใบตองอีกครั้งที่ ด้านบน แล้วปิดฝา ใช้ไฟเตาถ่านจะหอมอร่อยกว่า ใช้ไฟอ่อนๆ
จนข้าวเหนียว เป็นสีน้ำตาล (ถ้าเป็นกระทะเทฟร่อล ไม่ต้องใช้ใบตองรอง)
พลิกอีกด้านขึ้นทำเหมือนกันเดิมเมื่อสุก 1 ด้าน เป็นที่มาของเหนียวสองดัง



แล้วพลิกกลับอีกด้าน จนข้าวเหนียวเป็นสีน้ำตาล เช่นกัน จึงเรียกว่า สองดัง

 

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น