วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558




โรคฉี่หนูอันตรายกว่าที่เราคิด


ไม่รู้เป็นไร คนแถวบ้านเสียชีวิตด้วย โรคฉี่หนู ไปเสีย 3 คนแล้ว ทำให้ฉันกระหายใคร่รู้ว่า โรคฉี่หนู
นั้นเป็นอย่างไร มีอาการอะไรบ้าง อันตรายแค่ใหน ทำไมจึงทำให้คนที่แข็งแรงสามารถเสียชีวิตได้เพียงแค่ไม่สบายมีไข้ 3-7 วัน ทั้งๆที่น้ำก็ไม่ท่วม ซึ่งโรคนี้ตามที่ได้ยินข่าวมักแพร่ระบาดมากเวลาน้ำท่วม ช่วงฤดูฝน นี้่ก็ไม่ใช่ฤดูฝนสักหน่อย ภาคใต้ ร้อนโคตรโคตร หรือเพราะคิดว่าแค่ไข้ตัวร้อนหน่อยๆ
กินพาราแล้วก็ไม่เป็นไร อาจจะชะล่าใจไปสักหน่อย แต่โรคนะสิมันไม่เคยถอยมีแต่รุกคืบชีวิต
ไปหาหมออีกทีก็เลือดออกตามอวัยวะภายใน จนตับไต ล้มเหลวไปหมดแล้ว
ตามที่หามาได้ ดูกันสักหน่อยว่าเป็นอย่างไร เพื่อได้ฉุกคิดสักนิดเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน



โรคฉี่หนูเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis)
       ซึ่งมีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อ ส่วนสุนัข สุกร โค กระบือ แพะ แกะและสัตว์เลี้ยงพบการป่วยเป็นโรคนี้ได้ แต่แมวไม่ค่อยพบการป่วยด้วยโรคนี้ สัตว์ป่วยที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อทางปัสสาวะ พบการระบาดของโรคนี้สูงในช่วงฤดูฝน หรือช่วงน้ำท่วมขัง



เชื้อสาเหตุ
      เกิดจากเชื้อ Leptospira interrogans ซึ่งเป็น เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ รูปร่างเป็นเส้นเกลียว (Spirochete) โดยมีมากกว่า 200 ซีโรวาร์ (serovars) แต่ซีโรวาร์สำคัญที่พบก่อโรคในสัตว์เลี้ยงคือ Grippotyphosa, Pomona, Bratislava, Icterohemorrhagicae และ Canicola
เจ้าเชื้อแบคที่เรียแกรมลบตัวอันตราย


การเกิดโรค
        เชื้อถูกขับออกมาทางปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อได้นานหลายเดือนถึง 4 ปี ซึ่งมักปนเปื้อนอยู่ในน้ำท่วมขัง และตามสิ่งแวดล้อม เชื้อสามารถติดต่อโดยการไชเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลที่ผิวหนัง
เยื่อบุของตา จมูก และปาก ในกรณีที่มีการแช่น้ำเป็นเวลานานเชื้อสามารถไชเข้าสู่ผิวหนังได้ถึงแม้ไม่มี บาดแผล ระยะฟักตัวของโรคประมาณ 1-2 สัปดาห์

      โดยหลังจากติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่ระยะติดเชื้อในกระแสเลือด (Leptospiremic phase) ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะพบเชื้อถูกปล่อยออกมากับปัสสาวะ (Leptospiruric phase) ซึ่งระยะนี้เชื้อจะเข้าไปอยู่ในไต ตับ ม้าม ระบบประสาทส่วนกลาง และที่ตา

        เชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฉี่หนูเป็นเชื้อแบคทีเรีย จะแสดงอาการในช่วง 4-19 วันหลังรับเชื้อ
การติดต่อสู่คนของโรคฉี่หนูเกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับปัสสาวะของสัตว์ที่มี เชื้อ หรือสัมผัสโดยอ้อมผ่านทางสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะแหล่งน้ำขัง ที่ชื้นแฉะ เช่นดินโคลนใกล้แหล่งน้ำ น้ำตก แม่น้ำลำคลอง หรือน้ำที่ท่วมขังอยู่หลังอุทกภัย


สาเหตุ
       ของโรคเกิดจากเชื้อเลปโตสไปราสายพันธุ์ก่อโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียเรียชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นเกลียวบาง โรคเลปโตสไปโรซิสเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยพาหะที่พบบ่อยที่สุดคือหนู
จึงได้ชื่อว่าโรคฉี่หนู แต่ความเป็นจริงแล้วหนูไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวที่เป็นพาหะ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเกือบทุกชนิดมีรายงานว่าเป็นพาหะของโรคได้ เช่น สุนัข แมว โค กระบือ และสุกร สัตว์มักไม่แสดงอาการ
แต่จะมีเชื้ออาศัยอยู่ในท่อไตและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เมื่อคนสัมผัสกับปัสสาวะของสัตว์ที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่น้ำท่วมขัง ที่ชื้นแฉะ ดินโคลน หรือพืชผัก เชื้อสามารถไชเข้าทางผิวหนังที่เป็นแผลหรือเปื่อยยุ่ยจากการแช่น้ำอยู่นานๆ หรือเข้าทางเยื่อบุ เช่น ปาก ตา จมูก จากการ ดื่ม
กิน น้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน หรือว่ายน้ำในบริเวณที่มีการปนเปื้อน เป็นต้น ดังนั้น การระบาดของโรคส่วนใหญ่จะพบในช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาว ซึ่งมักมีน้ำท่วมขัง หรือเมื่อเกิดอุทกภัย เกิดภาวะน้ำท่วม ทำให้มีโอกาสสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น


อาการของโรคฉี่หนู

ระยะฟักตัว
       หลังเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ถึง 30 วัน เฉลี่ยประมาณ 5 ถึง 14 วัน จึงจะแสดงอาการ ผู้ที่ได้รับเชื้ออาจมีอาการและการดำเนินโรคที่แตกต่างกันไปตั้งแต่ไม่มี อาการ มีอาการน้อย อาการรุนแรงมาก จนถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปตามกระแสเลือดแล้วกระจายเข้าสู่อวัยวะ ต่างๆ ที่สำคัญคือ ไต ตับ ปอด น้ำไขสันหลัง หัวใจ เป็นต้น ในระยะแรกอาการส่วนใหญ่มัก
ไม่จำเพาะ อาจคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้หวัดใหญ่ ไข้รากสาดใหญ่


ในช่วงแรก จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา แต่ถ้าไม่มีน้ำมูก ไม่ไอ ไม่เจ็บคอ
ควรสงสัยไว้ก่อนว่าจะมีโอกาสติดโรคที่ระบาดในช่วงน้ำท่วม นอกจากนี้ในผู้ที่มีประวัติการเดินย่ำหรือแช่น้ำท่วมขัง ร่วมกับมีอาการดังต่อไปนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะเป็นโรคฉี่หนู ควรเร่งพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่
  • ภาวะเยื่อบุตาบวมแดงเกิดขึ้นในตาทั้งสองข้างใน 3 วันแรกและนานตั้งแต่ 1-7 วัน อาจมีเลือดออกที่ตาขาวข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงมากโดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา หน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังและมีอาการกดเจ็บกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะที่น่อง
  • ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจพบ จุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือผื่นเลือดออก หรือเลือดออก        ใต้เยื่อบุตา หรือมีเสมหะเป็นเลือด
  • ผื่น อาจจะพบได้หลายแบบ ผื่นแดงราบ ผื่นแดง ผื่นลมพิษ
  • อาการเหลือง อาการเหลืองมักเกิดวันที่4-6 ของโรค
กลุ่มที่มีอาการเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอันตรายรุนแรง ต้องไปโรงพยาบาลทันทีเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม



ระยะเฉียบพลัน
       อยู่ในช่วงประมาณสัปดาห์แรกของโรค เป็นระยะที่มีเชื้อในกระแสเลือด ระยะนี้ผู้ป่วยมักมี อาการ
ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงซึ่งมักเป็นที่บริเวณน่องและหลัง ตาแดง มีเลือดออก
ใต้เยื่อบุตา เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ระยะต่อมาเป็นช่วงตั้งแต่ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของโรค
มีระยะเวลาประมาณ 4 ถึง 30 วัน เป็นระยะที่มีการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้เชื้อที่อยู่ในกระแสเลือดถูกกำจัด และมีเชื้อออกมาทางปัสสาวะ ระยะนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ คอแข็ง อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีผื่น ตาอักเสบ ไตอักเสบ ตาเหลืองตัวเหลือง มีจุดเลือดออกที่
ผิวหนัง ถ้าอาการรุนแรงจะมีการทำงานของไตและตับล้มเหลว มีเลือดที่ออกที่อวัยวะต่างๆ เช่น ในปอด ทำให้การหายใจล้มเหลว เกร็ดเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การไหลเวียนเลือดล้มเหลวและอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้



การวินิจฉัยโรค
       เนื่องจากอาการของโรคไม่จำเพาะ จำเป็นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ในปัจจุบันวิธีการตรวจมาตรฐานเพื่อยืนยันโรคคือการตรวจหาแอนติบอดีในเลือด สามารถทำได้เฉพาะในห้องปฏิบัติการที่มีความชำนาญเท่านั้น



การรักษา
        เมื่อมีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อมาก โดยเฉพาะในภาวะน้ำท่วมต้องแช่น้ำอยู่เป็นเวลานาน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง การรักษาอย่างถูกต้องทันท่วงทีโดยเฉพาะตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก จะทำให้หายป่วยจากโรคเกือบทั้งหมด ถ้าปล่อยให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นมีไตวาย ตับวาย เลือดออกในปอด อาจทำให้เกิดทุพพลภาพตามมาหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้


การรักษา โรคนี้ จะใช้ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย ระยะเวลาในการรักษาประมาณ 5-7 วัน หากหยุดยาก่อนกำหนดอาจทำให้การรักษาล้มเหลวและเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงขึ้น ได้ ต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ไม่หยุดยาก่อนกำหนด



สำหรับกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฉี่หนู
      เช่น ผู้ประสบอุทกภัยต้องหมั่นสังเกตุอาการผิดปกติของตนเอง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำสกปรกโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบาดแผล หากต้องเดินย่ำน้ำที่ท่วมขังควรสวมรองเท้ายาง หลังจากการสัมผัสน้ำสกปรกควรรีบชำระล้างด้วยน้ำสบู่และเช็ดให้ผิวหนัง แห้งอยู่เสมอ และปฏิบัติตามแนวทางดังนี้
  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งแวดล้อมที่มีโอกาสมีเชื้อปนเปื้อน เช่น บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง ไม่เดินเท้าเปล่าย่ำน้ำหรือพื้นที่ชึ้นแฉะ ไม่แช่น้ำหรือว่ายน้ำอยู่นานๆ ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรป้องกันโดยแต่งกายให้รัดกุม เช่น สวมรองเท้าบู๊ทกันน้ำ
  2. รีบล้างทำความสะอาดผิวหนัง ขาและเท้าที่ย่ำน้ำมาให้สะอาด เช็ดให้แห้งทุกครั้ง
  3. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผิวหนังที่มีแผลหรือรอยถลอกต้องสัมผัสกับน้ำท่วมขังหรือ พื้นที่ชื้นแฉะ ควรใช้ปลาสเตอร์กันน้ำปิดแผล ใส่รองเท้ากันน้ำ ไม่ใช้น้ำที่ท่วมขังมาล้างแผล ภายหลังการสัมผัสน้ำท่วมขังต้องรีบทำความสะอาดแผลให้สะอาด
  4. ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้สะอาด ควบคุมกำจัดหนู และหลีกเลี่ยงอาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่มีสัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นพาหะของโรค
  5. บริโภคอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ดื่มน้ำสะอาด ล้างผักผลไม้ให้สะอาด ล้างมือก่อนบริโภคอาหาร
การป้องกันและการควบคุม
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคฉี่หนูให้กับสุนัข (ในแมวไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้)
  • หลีกเลี่ยงไม่ให้สัตว์เลี้ยงไปเล่นน้ำท่วมขัง
  • ควบคุมประชากรหนูซึ่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ
  • กรณีที่มีสัตว์ป่วยเป็นโรคฉี่หนู ควรแยกเลี้ยงสัตว์ป่วยกับสัตว์ปกติ โดยที่เจ้าของสัตว์ไม่ควรสัมผัสกับตัวสัตว์ป่วย ปัสสาวะ อุจจาระ และสิ่งคัดหลั่งโดยตรง ควรใส่ถุงมือยาง และรองเท้าบู๊ต
  • ควรทำความสะอาดบริเวณที่อยู่อาศัย กรง ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหรือความร้อน

คำแนะนำสำหรับสัตว์เลี้ยงที่บ้าน
       ถ้าสัตว์เลี้ยงที่บ้านของท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคฉี่หนู แนะนำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยถึงความเสี่ยงใน
การติดโรคฉี่หนูในคน โดยอาการเบื้องต้นที่พบในคนหลังจากได้รับเชื้อ 4-13 วัน อาจมีอาการดั้งนี้  มีไข้ ปวดศรีษะ หนาวสั่น ปวดตามกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียมาก อาเจียน ตาแดง ตัวเหลือง และอาจมีเลือดออกตามผิวหนัง ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อควรพบแพทย์ตั้งแต่ ระยะที่ยังไม่มีอาการป่วย



อย่าละเลยที่จะดูแลตัวเองและคนรอบข้างว่ามีไข้ไม่สบายเป็นอย่างไร อย่านิ่งนอนใจว่าเดี๋ยวคอยไป
พบหมอ เพราะเด่ีี๋ยวนี้โรคภัย มาเร็วเคล็มเร็ว พรากชีวิตไปเร็ว ยิ่งกว่าจรวด เพราะชีวิตมีค่าต่อทุกชีวิตและต่อคนรอบๆกายท่าน ไม่อยากให้ปล่อยปละละเลยต่อความสำคัญของการมีลมหายใจอยู่กับคนที่รักด้วยความปรารถนาจากผู้เขียน


ข้อมูลจาก น.สพ.วชิร ตระกูลชัยศรี  โรงพยาลสัตว์ประศุอาทร
บทความ "โรคฉี่หนูหรือโรคเลปโตสไปโรซิส…โรคที่ต้องระวังในภาวะน้ำท่วม"
โดย ผศ.พญ.ดร.กนิษฐา ภัทรกุล       ภาพจากอินเตอร์เน็ต     


 เรียบเรียงโดยบ้านบิวเบสท์

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น