วันพุธที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2558

บุญสารทเดือนสิบ
วันที่ 12 ตุลาคม เป็นวันส่งตายาย วันสุดท้าย ของประเพณีทำบุญ เดือนสิบ ของพี่น้องชาวใต้ทั้งหมด
ตัวฉันเองไปทำ 2 วัด คือวันที่ 11 ไปที่วัดคลองดิน วันที่ 12 ไปที่วัดด่าน และได้ไปทอดผ้าป่าด้วย 
ครบองค์ประชุม เลยทีเดียว ว่าไปแล้วก็ ปีละ 1 ครั้งที่พี่น้อง ลูกหลาน เพื่อนบ้าน ได้พบปะพูดคุยกัน 
 
เพราะเป็นวันทำบุญใหญ่ของคนใต้ อยู่ที่ใหนๆ ก็ตามจะต้องมากันทั่วทุกคน หรือไม่ก็มาเสียส่วนมาก
ปีนี้เห็นได้ชัดว่า ผู้คนมาร่วมทำบุญกันเยอะมาก ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้เฒ่าผู้แก่ แน่นขนัดวัดกันเลย
ทีเดียว ท่านสมภารว่า สร้างให้ใหญ่แล้ว ก็ไม่พอให้คนนั่ง แสนปลื่มใจที่ยังมีผู้คนพากันเข้าวัดฟังธรรม

 
 ที่วัดสโมสร หรือวัดด่าน ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

เมื่อไปวัด ก็ต้องมีปิ่นโต หรือคนใต้เรียกว่า ชั้น พร้อมทั้ง ของบริวาร ทั้งพอง ลาและขนมเดือนสิบ
ดอกไม้ ธูปเทียน ผลไม้ สะตอ และอีกมากมายรวมทั้ง ของตั้งเปรต อยู่ในตะกร้า พร้อม

 
ไปถึงวัดก็ จัดการตักข้าวและกับข้าว ใส่ที่พระพุทธ (ที่สำหรับพระพุทธรูป) 1 สำรับ แล้วเอาปิ่นโตไปไว้ที่สำหรับพระสงฆ์นั่ง แล้วก็หันกลับมา ดับหฺมฺรับ  ต้องร่วมด้วย ช่วยกันของญาติๆ หรือใครก็ตามที่จะมาร่วมด้วย จัดร่วมกันในหมู่ การดับหฺมฺรับ ภาชนะที่ใช้จัดหมรับใช้กระบุง กะละมัง หรือ เข่ง

การจัดหฺมฺรับคือ การบรรจุและประดับด้วยสิ่งของ อาหารขนมเดือนสิบลงภายในภาชนะที่เตรียมไว้
เป็นชั้นๆ ดังนี้
1. ชั้นล่างสุด จัดบรรจุสิ่งของประเภทอาหารแห้งลงไว้ก้นภาชนะ
2. ชั้นที่สอง บรรจุอาหารประเภท พืช ผัก ที่เก็บได้นาน ใส่ขึ้นมาจากชั้นล่างสุด
3. ชั้นที่สาม จัดบรรจุสิ่งของประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน
4. ชั้นที่สี่ ใช้บรรจุและประดับประดาด้วยขนมอันเป็นสัญลักษณ์ของสารทเดือนสิบเป็นหัวใจของหฺมฺรับ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง(ขนมไข่ปลา) ขนมบ้า ขนมดีซัม ขนมเหล่านี้มีความหมายในการ
ทำบุญเดือนสิบซึ่งขาดเสียมิได้เพื่อให้บรรพบุรุษ และผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้นำไปใช้ประโยชน์


 
 เมื่อจัดหฺมฺรับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องมี ดอกไม้ ธูปเทียน น้ำซึ่งใช้ผลหมากอ่อนคว้านเนื้อออกใส่น้ำ



สิ่งนี้ก็สำคัญ เสียบยอดหฺมฺรับ
 
 เมื่อจัดหมรับเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เอา ขนมเดือนสิบไปไว้ที่สำหรับแขวนพระ ซึ่งแขวนเป็นราวไว้ที่เสา


ชาวบ้านจะเอาขนม มาแขวนไว้อย่างนี้เหมือนกันทุกวัด ในแถบนี้

  จะมีการนำ ข้าวสาร เครื่องปรุง เช่น น้ำปลา น้ำตาล กะปิ หอม กระเทียม มะนาว ผัก ผลไม้ ข้าวโพด สะตอ ผักเหนาะ น้ำ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่จะนำพาไป (เรียกกันว่า สารศีล) รวมทั้งขนมเดือนสิบด้วย

 
 เมื่อถึงเวลา พระสงฆ์ทำพิธี แล้วฉันท์ข้าว 

 
ชาวบ้านก็จัด สำรับไว้สำหรับ ตั้งเปรต มีขนมเดือนสิบครบครัน พอง ลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมไข่ปลา ขนมฉาวหาย
 

  
 เมื่อพระฉันท์ข้าวเรียบร้อย ก็นำปิ่นโตมาตักข้าวและกับ ใส่สำรับ สำหรับให้ตา ยาย กิน

 
พร้อมทั้งเงินไว้ สำหรับค่าเดินทางด้วย

มีการตักบาตร ข้าวสุก กับ บาตรเงิน สำหรับเงินไว้ให้วัดเพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟ แล้วกรวดน้ำ รอบแรก

ชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกัน เสร็จแล้ว ก็ได้เวลาประมาณ บ่ายโมงกว่าๆ นำขบวนไปตั้งเปรต

 
เมื่อถึงเวลาพระต้องให้ยถาโยงสายสินณ์ก่อนแล้ว กรวดน้ำภาวนา
เสร็จพิธีแล้วลูกหลานก็ทำการส่งตายาย 
ร้อนอย่างไร ก็ไม่ท้อถอย รอเวลาชิงเปรต

เมื่อถึงเวลา ชิง ชิง เปรต ยกไปทั้งตะกร้า กะละมัง หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่จะนำไปได้
เหลือแต่ภาชนะที่รองรับ

กลับมาในวัดอีกที กรวดน้ำ สวดบังสุกุลให้แก่ ตายาย หรือผู้ที่ล่วงลับไป

 
 เมื่อพระสวด บังสุกุล เรียบร้อย ก็เผากระดาษที่เขียนชื่อผู้เสียชีวิตไว้ จนหมด

 
ไหว้ ลาพระ เป็นเสร็จพิธีกรรม การทำบุญ

ก่อนจะกลับ ก็ช่วยกันนับๆๆๆๆ เงินที่ได้จาก ยอดหมรับ เงินจากที่ตักบาตร  
ถวายวัดทั้งหมดเพื่อจะทำการพัฒนาวัด

ส่วนเงินบังสุกุล ให้ถวายพระทั้งหมด แล้วทำการปัดกวาด บริเวณศาลา โรงธรรม ให้สะอาด ก่อนกลับ

 
ส่วนเงินทอดผ้าป่า นำไปพัฒนาวัดเช่นกันตามวัตถุประสงค์


 
 พุ่มผ้าป่า ตามศัทธา ที่วัดสโมสร หรือวัดด่าน


 ทอดผ้าป่าเพื่อติดฝ้าโรงธรรมวัดสโมสร

 
ที่พระธาตุ เขาแห่หมรับกัน


ประเพณีเดือนสิบ ความสำคัญ
เป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนชาวนครศรีธรรมราช ที่เชื่อว่าบรรพบุรุษอันได้แก่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว หากทำความชั่วจะตกนรกกลายเป็นเปรต ต้องทนทุกข์ทรมานในอเวจี
ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานอุทิศส่วนกุศลให้แต่ละปีมายังชีพ ดังนั้นจะกลับไปนรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ในโอกาสนี้เองลูกหลานและผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงนำอาหารไปทำบุญที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวที

พิธีกรรมเดือนสิบ

1. การจัดหฺมฺรับ
ขนมสัญลักษณ์เดือนสิบ ได้แก่ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมแต่ละชนิดมีความหมายดังนี้
ขนมลา เป็นเสมือนเสื้อผ้าที่ให้บรรพบุรุษใช้นุ่งห่ม
ขนมพอง เป็นเสมือนแพที่ให้บรรพบุรุษข้ามห้วงมหรรณพ
ขนมกง เป็นเสมือนเครื่องประดับ ใช้ตกแต่งร่างกาย
ขนมบ้า เป็นเสมือนเมล็ดสะบ้า ไว้เล่นในวันตรุษสงกรานต์
ขนมดีซำ เป็นเสมือนเงินตรา ไว้ให้ใช้สอย

2. การยกหฺมฺรับ
ในวันแรม ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะยกหฺมฺรับที่จัดเตรียมไว้ไปวัด และนำภัตตาหารไปถวายพระด้วย โดยเลือกไปวัดที่อยู่ใกล้บ้านหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยมไป

3. การฉลองหฺมฺรับและบังสุกุล
เมื่อนำหมฺรับไปวัดแล้ว จะมีการฉลองหฺมฺรับ และทำบุญเลี้ยงพระเสร็จแล้วจึงมีการบังสุกุล การทำบุญวันนี้เป็นการส่งบรรพบุรุษและญาติพี่น้องให้กลับไปยังเมืองนรก

4. การตั้งเปรต
ชาวบ้านจะนำขนมอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้ตามบริเวณลานวัด ข้างกำแพงวัด โคนไม้ใหญ่ เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศลเป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติ หรือญาติไม่มาร่วมทำบุญให้ การชิงเปรตจะทำตอน
ตั้งเปรต เสร็จแล้ว เพราะเชื่อว่าถ้าหากใครได้กินของเหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ จะได้รับกุศล
เป็นสิริมงคลแก่ตนเอง

วัดปทุมวารี ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี
บางวัดนิยมสร้างหลาเปรต เพื่อสะดวกแก่การตั้งเปรต บางวัดสร้างหลาเปรตไว้บนเสาสูงเพียงเสาเดียว เกลาและชะโลมน้ำมันเสาจนลื่น เมื่อเวลาชิงเปรตผู้ชนะคือผู้ที่สามารถปีนไปถึงหลาเปรตซึ่งต้องใช้ความ พยายามอย่างมาก จึงสนุกสนานและตื่นเต้น หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์โดยไปที่ละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า “หว่านกำพรึก” แย่งกันอย่างนุกสนาน

สาระสำคัญ
ประเพณีสารทเดือนสิบมีสาระสำคัญหลายประการ ดังนี้
1. เป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกหลาน
เพื่อตอบแทนบุญคุณ ลูกหลานจึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้

2. เป็นโอกาสได้รวมญาติที่อยู่ห่างไกล ได้พบปะทำบุญร่วมกันสร้างความรักใคร่สนิทสนมในหมู่ญาติ

3. เป็นการทำบุญในโอกาสที่ได้รับผลผลิตทางการเกษตรที่เริ่มออกผลเพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่
ตนเองและครอบครัว

4. ฤดูฝนในภาคใต้จะเริ่มขึ้นในปลายเดือนสิบ พระภิกษุสงฆ์บิณฑบาตยากลำบาก ชาวบ้านจึงจัดเสบียงอาหารนำไปถวายพระในรูปของหฺมฺรับ ให้ทางวัดได้เก็บรักษาเป็นเสบียงสำหรับพระภิกษุสงฆ์ในฤดูฝน

 

 

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น