วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

โรคความดันโลหิต ที่เสี่ยงต่อสุขภาพมาเรียนรู้กัน
ปีนี้ ข้าพเจ้าได้สมัครใจเป็นอาสาสมัครของหมู่บ้าน หมู่ที่5 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 
สิ่งแรกที่ปฎิบัติงานหลังจากได้ฝึกอบรมมา ให้ตรวจวัดคัดกรองความดันโลหิตและเบาหวาน                 ก่อนจะตรวจคนอื่น ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมเสมอ (ในใจฉันคิด)


ได้เครื่องวัดความดันมา 1 เครื่อง เครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาล 1 เครื่องพร้อมแถบวัด 
พี่สาวอสม.คนเก่าอาสาวัดความดันให้ เลขที่ออก ครั้งที่ 1. 155 /116 /84  ครั้งที่ 2. 132 /116/80 ผลที่ออกพี่เขาว่า ต้องพบหมอแล้วละ มีความเสี่ยง อันตราย เรางง......... ความดันตัวบนลงแล้วทำไม ตัวล่าง ไม่ลงสักที ไปหาหมอแล้วได้ยามา 2 ชนิด
หมอบอกว่า ต้องมาตามนัดเพราะเป็นอันตรายต่อ สมองและหัวใจ ....
เมื่อออกจากห้องหมอ คุณพยาบาลถามว่า ตกใจมั๊ย ตอบ ไม่ค่ะ เตรียมใจมาแล้ว พยาบาลยิ้ม เรายิ้ม
แล้วก็นัดมาตรวจสุขภาพประจำปีไปเลย รอถึงวันนัด ตอนนี้ออกกำลังกายอย่างไม่มีข้อแม้++++

ได้ยามา 2 ตัว รับประทาน 2 อาทิตย์ แล้วให้ไปตามนัด 
ตัวที่ 1. amlopine 10 mg( รักษาความดันโลหิตสูง /หัวใจ ) 
ตัวที่ 2. Anapril  5 mg ยาลดความดันโลหิต แต่ตัวนี้มีผลข้างเคียงคือ การไอ
มิน่าละเราไม่เคยไอดันไอขึ้นมาได้ ต้องสังเกตุตัวเองไปด้วยตอนกินยา

 .......เพราะโรคความดันโลหิตสูงเป็นภัยเงียบ ที่คุกคามชีวิตของท่านเนื่องจากไม่มีอาการเตือนหรือเตือนแล้วเช่น มึนหัว มึนท้ายทอย ตาพร้ามัว แต่ไม่สนใจ หรือ ทำเฉย ไม่เป็นไร เลยเฉยเมยจนทำให้เป็นมากถึงขั้นลมตึง หรือวูบไป หรือถึงกับชีวิตมามากต่อมากแล้ว หรือไม่ก็เส้นเลือดแตกเป็นอัมพฤษ

ผลของการรักษา กินยา มา 3 เดือน พร้อมกับออกกำลังกายเล็กน้อย
กินยาครั้งแรก 2 อาทิตย์ วัดได้ 138/91   กินต่อมา 2 เดือน วัดได้ 129/80 ต้องกินยาต่อไปแต่หมอชมว่าความดันดีมาก (เราต้องออกกำลังกายให้มากกว่านี้อีก ) จะได้หายขาด

++++++++++++++++++++++++

ตามความรู้ที่มีและหาได้ว่า ความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดหลอดแข็งและตีบ เมื่อหัวใจบีบตัวหัวใจจะบีบเลือดไปยังหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดความดันโลหิตซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ และแรงต้านทานของหลอดเลือด หัวใจคนเราเต้น 60-80ครั้ง ความดันก็จะเพิ่มขณะที่หัวใจบีบตัว และลดลงขณะที่หัวใจคลายตัว ความดันโลหิตของคนเราไม่เท่ากันตลอดเวลาขึ้นกับท่า ความเครียด การออกกำลังกาย 
การนอนหลับ ค่าปกติของคนเราคือ 120/80 มิลิเมตรปรอท แต่ไม่ควรเกิน 140/90 หากสูงกว่านี้แสดงว่าคุณเป็นโรคความดันโลหิตสูงโรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคอัมพาต โรคหัวใจเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง
ค่าความดันโลหิตที่ปกติคือ  120/80 มิลิเมตรปรอท แต่ไม่ควรเกิน 140/90 
ความดันโลหิตสูงระยะ 1 คือ ความดันโลหิตอยู่ในช่วง 140-159/90-99 มม.ปรอท 
ความดันโลหิตสูงระยะ 2 คือ ความดันโลหิตตั้งแต่ 160/100 มม.ปรอทขึ้นไป 
ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 180/110 มม.ปรอทขึ้นไป ต้องพบแพทย์ด่วน
เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาจจากโรคหัวใจ สมอง ไต ล้มเหลว 

ความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 220/140 มม.ปรอทขึ้นไป ต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน เพราะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ จากการทำงานล้มเหลวของอวัยวะสำคัญต่างๆ เช่น หัวใจ สมอง และไต
การรักษาความดันโลหิตจะต้องพิจารณาถึง ระดับความดันโลหิต โรคหรือภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด อวัยวะเสียหายจากความดันโลหิต โรคแทรกซ้อนจากความดันโลหิต 
โรคความดันโลหิตสูงทำให้เกิดหลอดเลือดตีบ ซึ่งหากไปเลี้ยงอวัยวะไม่พอก็จะเกิดเสียหายต่ออวัยวะนั้น และหากกิดลิ่มเลือดจากผนังหลอดเลือด ก็จะเกิดโรคที่อวัยวะนั้นแบบเฉียบพลัน โรคแทรกซ้อนได้หลายระบบ ได้แก่ หัวใจและหลอดเลือด สมอง ไต เท้า ตา 

โรคความดันโลหิตสูงจะมีโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ที่สำคัญคือหัวใจและสมอง โรคระบบทั้งสองจะมีอาการเตือนล่วงหน้า ก่อนที่จะเกิดความพิการ เช่นกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจะมีอาการเจ็บหน้าอกเป็นหลัก ส่วนโรคหลอดเลือดสมองจะมีอาการอ่อนแรง หรือเดินเซ เป็นต้นผู้ที่เป็นโรคความดันต้องรู้
การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อเป็นโรคความดันโลหิตสูง
1. ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง
2. กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
3. จำกัดอาหาร แป้ง น้ำตาล ไขมัน และอาหารเค็ม
4. จำกัดอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
5. ออกกำลังกายตามสุขภาพสม่ำเสมอทุกวัน วันละ 30-45 นาที
6. รักษาสุขภาพจิต ไม่เครียด เข้าใจและยอมรับชีวิต
7. เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เลิกสุรา (กรณีที่ดื่ม และสูบ)
8. พบแพทย์ตามนัดเสมอ หรือก่อนวันนัดเมื่อมีอาการผิดปกติหรือเมื่อกังวล

พบแพทย์ด่วนเมื่อ
1. ปวดศีรษะมาก
2. เหนื่อยมากกว่าปกติมาก เท้าบวม (อาการของโรคหัวใจล้มเหลว)
3. เจ็บแน่นหน้าอก ใจสั่น เหงื่อออกมาก จะเป็นลม
   (อาการจากโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน)
4.แขน ขาอ่อนแรง พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว คลื่นไส้ อาเจียน
   (อาการจากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องพบแพทย์ฉุกเฉิน)

ข้อมูลบางส่วน จากหาหมอ ดอทคอม บางภาพจากอินเตอร์เน็ต

0 ความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น